ประกายธรรม ๑
"ความดี" จะเกิดได้มีได้ ก็ต้องควรรู้ว่า"ความดี" แท้ๆ คืออะไร?
ความดี หรือ ความชั่วนั้น ก็คือ สภาวะสองสภาวะที่นับเป็นของคู่กัน และตรงกันข้ามกันเท่านั้น และ แท้ที่จริง ก็ไม่ใช่ สภาวะ ที่บ่งบอกอะไร ที่แน่นอนถูกต้อง แท้จริงอะไรนักด้วย เพราะแม้บางที จะเรียกว่า "ความดี" มันก็ยังคือ "ความชั่วชั้นสูง" อยู่ก็เป็นได้ หรือไม่บางที เราชนชาติเผ่านี้ เรียกการกระทำ นี้ว่าเป็น "ความดี" แต่ในชนชาติบางเผ่า เขากลับเห็นว่าเป็น "ความชั่ว" โดยตรงกันข้าม เอาเลยจริงๆ จังๆ ก็เป็นได้อีกเช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงควรจะรู้จักตัว "ความดี" ที่แท้ ที่จริง ที่ถูกต้อง โดยไม่แปรไม่ผิด ไม่เปลี่ยนให้ได้ เราก็จะเป็น "คนดี" เป็นผู้ทำ "ความดี" ทุกเมื่อ ไม่มีผิดพลาดอย่างแท้จริง เรามาลองพิจารณากันดูซิว่า "ดี" คืออะไรกันแน่ๆแท้ๆ จะขอยกตัวอย่างในเรื่อง "ดี" มากล่าวถึง สักเรื่อง เช่นว่า เรื่อง การกิน เป็นต้น ถ้าคนกล่าวกันว่า "กินดี" ก็คือ ต้องกินได้ทุกเวลา และ กินอย่างหรูหรา ครบพร้อม ที่ต้องการ เต็มที่ทั้งปริมาณ จนเรียกเหลือ นั่นเรียกว่า การ "กินดี" ของมนุษย์ ก็คงไม่มีใคร เห็นผิด ประหลาดไปจากนี้แน่ๆ เพราะทุกคน ล้วนแล้วแต่เหน็ดเหนื่อย สู้ทนทำงาน ทำการกันอยู่ ทุกเวลานาที ก็เพื่อจะได้ "กินดี" ดังกล่าวนี้ทั้งนั้น ถ้าใครทำมาหาได้ จนเพียงพอที่จะ "จับจ่าย" หรือ จัดให้ตนเอง อยู่ในสภาพ "กินดี" อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นได้ ทุกคนก็จะทำ ทุกคนก็จะต้อง "เสพการกินดี" อย่างที่ว่านั้นทั้งนั้น
"การกินดี" ถ้าได้ในลักษณะ ถ้าอยากกินเมื่อใด ก็ได้กิน และกินได้หรูหราครบพร้อมที่ต้องการ และ ให้เต็ม ทั้งปริมาณ จนเรียกว่าเหลือนี้ จะไม่มีใครเห็นว่าเป็น "ความชั่ว" เป็นความผิดตรงไหนเลย อย่างแน่นอน ในคนธรรมดา ตรงกันข้าม ถ้า "ผู้มีอันจะกิน" คนใด อยากกินก็ไม่กิน จะกินให้หรูหราก็ไม่ยอม ต้องกินเขม็ดแขม่ ทั้งๆที่ "มั่งมีเหลือพอ" อยู่แล้ว คนผู้นี้ ก็จะถูกกล่าวหาว่า "ตระหนี่ถี่เหนียว" และถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้มีลักษณะ เห็นแก่ตัว ไม่สปอร์ต ไม่กล้าได้กล้าเสีย ไม่รู้จักใช้เงิน ที่อุตส่าห์หามาได้ คนผู้นี้ก็กลายเป็นผู้ผิด เป็นผู้ทำ "ความชั่ว" เป็น "คนไม่ดี" ดังสังคมส่วนใหญ่ เขาเห็นไปเสียอีก แต่ในอีกมุมหนึ่ง หรือ ความเห็นของคน จำพวก เขม็ดแขม่ ถี่เหนียวด้วยกัน เขาก็เห็นว่า คนผู้นี้ ปฏิบัติดีแล้ว ชอบแล้ว เป็นการปฏิบัติ อย่างถูกต้อง เป็น "ความดี" ที่ไม่กินให้หรูหรา ฟุ่มเฟือยนั้น และก็เป็นคนที่รู้จักใช้เงินเช่นกัน คือไม่ใช้ให้มันพร่อง มันหมดไป เป็นผู้รู้จักสะสม รู้จักค่าของเงิน ค่าของความเหนื่อยยาก ที่อุตส่าห์หามาได้ด้วยยาก ก็ควรรักษามันไว้ ให้มันไปจากเราได้ด้วยยาก ผู้นี้ก็คือ "คนดี" ในสายตาของคน อีกหมู่หนึ่ง ดังนี้
ด้วยตัวอย่างเช่นนี้แหละ ในกรณีอื่นๆ ใดๆ ก็ยังมีลักษณะเช่นนี้ทั้งนั้น ดังนั้น คำว่า "ความดี" เหล่านี้ จึงยังไม่ใช่ "ความดี" ที่แท้จริงแน่ๆ ยังเป็น "ความดี" ที่ดิ้นได้ ค้านกันอยู่ ทั้งสิ้น ถ้าเช่นนั้น "ความดี" แท้ๆ คืออะไร? และ "ความชั่ว" แท้ๆ คืออะไร? หากเอาผลสรุป ของพุทธศาสนา ของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาอ้าง หรือมากล่าวเลย เราก็จะได้เป็นจุดยอด จุดแท้กันเลย ทีเดียวว่า "ความดี" ขั้นสุดยอด คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น และ ไม่เบียดเบียน แม้แต่ตัวเอง ถ้ายังเบียดเบียนตัวเอง อยู่อย่างมาก แม้จะไม่เบียดเบียนผู้อื่นสิ้นแล้ว ก็ยังไม่ถือว่า เป็น "ความดี" ขั้นสุดยอด ดังนั้น สิ่งใดเรียกว่า "ความดี" สิ่งนั้น ก็คือ "ความไม่ชั่ว" สิ่งใด ยังดีไม่แท้ ก็คือ ยังมีชั่วปนอยู่ ถ้า "ไม่ดีเลย" ก็คือ "ชั่วแท้ๆ" นั่นเอง เพราะโดยแท้จริงแล้ว ความดี และความชั่ว ก็คือปลายสุดสองข้าง ของคุณธรรม แห่งมนุษย์ ถ้าความดี เดินทางจากปลายสุด มาหาความชั่วเท่าใด ก็คือ ความดีลดน้อยลงๆ ทุกทีๆ และ โดยนัยเดียวกัน ถ้าความชั่วขยับตัวขึ้นไปหาความดี เข้าไปมากเข้าๆ ทุกที ก็คือ ความชั่วลดน้อยลงๆ กระเถิบตัวเองขึ้นไป เป็นความดีขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน เอาละ พอได้หลักดังนี้แล้ว เราก็มาลองวิจัยกันดูซิว่า ทำอย่างไร เราจะได้รู้ว่า สิ่งใดอันใด อย่างไร จึงจะเรียกว่า "ความดี" และ ทำอย่างไร เราจะรู้ได้ว่า เป็นผู้ทำแต่ "ความดี" แท้ๆได้ ก็จำเป็น จะต้องรู้กัน เสียก่อนว่า การไม่เบียดเบียนผู้อื่น กับไม่เบียดเบียน ตนเองนั้น คืออย่างไร เราจึงจะนำมา ประกอบ การแยกแยะ หรือ วิจัยออกมาได้ว่า "ความดี" คือสิ่งใด อันใด หรืออย่างไร
การจะติดตามรู้ได้ชัดเจนว่า "การเบียดเบียน" คืออะไร? และจะรู้ได้ชัดแจ้งจนถึงว่า "การบังเบียดตนเอง" คืออย่างไร?นั้น เราจะต้องใช้ "สติ" ตรอง และ ต้องตรอง ให้ละเอียดจริงจัง อย่างสำคัญด้วย เมื่อตรอง จนเห็น จนรู้ชัดแล้ว ก็จะต้องนำมา "ปฏิบัติ"เป็นขั้นๆ เป็นลำดับๆไป ผู้นั้น จึงจะได้เห็น "ความดี" ขั้นสูง ได้ถูกแท้จริงจัง และกระเถิบตัวขึ้นไปเห็น "ความดี" ขั้นสูงที่แท้สูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ จนที่สุด ก็จะถึงจุดสุดท้าย คือ เห็นและรู้จัก "ความดี" ที่แท้ๆจริงๆ ถ้าไม่ทำดังที่ว่านี้ จะเพียงอ่าน เพียงฟัง เพื่อให้รู้ว่า "การบังเบียด" คืออะไร แล้วก็ไม่ได้หัด "ปฏิบัติ" ตัดขาด หรืองดเว้น "การบังเบียด"นั้น แม้แต่ขั้นง่ายๆ ก็ตัดขาดไม่ได้ ยังคงเป็นผู้มี "การบังเบียด" ผู้อื่นอยู่ อย่างไม่ท้อถอย ผู้นั้นจะรู้จะเห็น "ความดี" ขั้นสูงขึ้นไม่ได้ เป็นอันขาด อย่างแท้จริง มันเหมือนกับการขึ้นบันไดไปเห็น "ความสูง" ถ้าเรายืนอยู่ แต่เพียงขั้นเดิม คือ ขั้นต่ำ ไม่ยอมพาตัวเอง ก้าวขึ้นไปสู่บันไดขั้นสูงแล้ว เราก็เพียงรู้ หรือ เพียงเห็นแต่ "ขั้นบันได" ที่เป็นขั้นๆ อันจะพาคน ขึ้นไปสู่ที่สูง เพื่อจะไปดู หรือไปเห็นความสูงนั้น อย่างเดียวเท่านั้น แต่จะไม่เห็นตัว "ความสูง" หรือ "ภูมิสูง" หรือ "แดนสูง"จริงๆ อันอื่นใด เป็นแน่แท้ ในเมื่อไม่พยายามก้าว ขึ้นบันไดขั้นที่สูงขึ้นๆไป ให้ได้ด้วยดังนี้ ผู้คนที่ยืนอยู่บันไดขั้นที่ ๑ แต่บรรยายความสูง ในระดับ บันไดขั้นที่ ๒-๓-๔-๕-๖ ให้ผู้อื่นฟัง จึงไม่มีทางถูกต้อง แท้จริงได้เลย เป็นเรื่องหลักลอยทั้งสิ้น
นี่แหละเป็น "เคล็ด" ที่สำคัญยิ่ง ของการจะรู้จัก "ความดี" ที่แท้จริง และจะทำให้ผู้ได้รู้ ได้เห็นแท้ เห็นจริง นั้นเป็น "คนดี" อย่างแท้จริงๆด้วย ก่อนจะรู้ว่า "การเบียดเบียน" คืออะไร? ก็ต้องรู้ถึง ความเป็นอยู่ ธรรมดาปกติ ของคนเสียก่อน อันนี้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะ "คน" ทั้งหลาย ส่วนมากนั้น จะยังไม่รู้เลยว่า ตนเป็นอยู่ได้ด้วยอะไร? หรืออะไรที่ตนยึดถือเอามาเป็น "ชีวิต"? หรือ อะไรที่เราใช้ เป็นเครื่องนำพา "ชีวิต" ให้เป็นไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้? ใครเคยนึก เคยคิดบ้างหรือเปล่า
"คน"นั้น เป็นอยู่ได้ด้วย "การเสพ" นั่นคือ คำตอบที่ถูกที่แท้ ดังนั้น ถ้าไม่รู้ว่า "การเสพ" คืออะไร เสียแล้ว ก็จะไม่รู้ ถึงเรื่องอื่นใดอีกเลย โดยเฉพาะ "การเบียดเบียน" หรือ "การบังเบียด"
"การเสพ" ทั้งหลายก็คือ "การจับจ่าย"
ตามให้ดี และตรองให้ดี "การเสพ" คือ "การจับจ่าย" ไม่ว่าจะเป็นการเสพใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อลงมือ "เสพ" ก็คือลงมือ "จับจ่าย" ออกไป หรือ "ทำลาย" สิ่งที่ตนเสพนั้นลงไป โดยตัวเราเอง ดังนั้น ถ้าไม่มีค่าจ้าง หรือ สิ่งแลกเปลี่ยน ที่เราจะไป "จับจ่าย" แลกสิ่งที่จะเสพนั้นมา เราก็จะต้อง "เป็นหนี้" เขาไว้ทันที จึงจะได้ "เสพ" สิ่งนั้นๆ นั่นคือ การมองให้เห็นอย่างละเอียด ถ้ามองกันอย่างผิวเผิน คนก็จะเข้าใจเอาง่ายๆ ว่า "การเสพ" คือ การได้มา "การเสพ" คือการรับเข้ามา แต่ถ่ายเดียว แต่คนก็ไม่ยอมคิดให้เห็นว่า ก่อนจะได้เสพนั้น ทุกสิ่ง ทุกอย่าง เราจะต้อง "ลงทุน" หรือหาสิ่งที่จะเป็น ของแลกเปลี่ยน มาไว้ก่อน แล้วก็ต้อง "จับจ่าย" ทุนที่หามาได้ เป็นของแลกเปลี่ยน สิ่งที่จะเสพไป จึงจะได้มาซึ่ง "การเสพ"นั้นๆ ถ้าไม่อย่างนั้น ก็มีอีก กรณีหนึ่ง คือ จะได้ "เสพ" ก่อน โดยถือว่าผู้เสพ "เป็นหนี้" ผู้ที่ให้สิ่งนั้นมา "เสพ" ไว้ แล้วค่อย "จับจ่าย" ใช้หนี้ "ผู้ให้" นั้นทีหลังผู้อ่าน ต้องพยายามพิจารณาให้ดี ต้องให้ถูกฝาถูกตัว มันก็ไม่มีอะไร มี "การเสพ" มี "ผู้เสพ" และ "ผู้ให้เสพ" นั่นเองยุ่งๆกันอยู่ และ ทุกสิ่งทุกเรื่อง จะเป็นอยู่อย่างนี้ทั้งนั้น ไม่มีใครเลย จะได้อะไรมาฟรีๆ ไม่มีใครเลยจะได้ "เสพ" ฟรีๆ โดยไม่ "จับจ่าย" หรือ "ลงทุน" ลองนึกดูให้ดีๆ มีใครบ้าง ที่ได้อะไรมา "เสพ" โดยไม่แลกเปลี่ยน หรือ ไม่ลงทุนเลย และเช่นเดียวกัน ก็ไม่มีใครเสียอะไรไปฟรีๆ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งนั้น ถ้านึกดูให้ดี ในชาตินี้ ชาติที่เราเป็นคนอยู่นี่แหละ ก็จะเห็นได้บางเรื่องบางอัน ที่เราได้มา "เสพ" ว่า เป็นการลงทุน เป็นการแลกเปลี่ยน หรือเป็นการ "จับจ่าย" แต่บางเรื่อง บางอัน ท่านก็จะนึกไม่ออก สืบสาว ไม่ได้ว่า มันได้มาก โดยเราไป "ลงทุน" ไว้ตั้งแต่เมื่อใด อันนั้น เรื่องนั้นแหละ จะทำให้ท่านเข้าใจผิด เข้าใจเขวไปว่า นี่กระมังคือ "กำไร" หรือ คือสิ่งที่ได้มาฟรีๆ ดังนั้น ใครผู้ใด ที่ได้อะไรมาฟรีๆ ก็อย่านึก กระหยิ่ม ยิ้มย่อง เป็นอันขาด ถ้าท่านไม่เคยลงทุนไว้ ท่านก็จะอยู่ในฐานะ ผู้กู้เขามาก่อนโดยแท้
ขอยืนยันว่า ไม่มีใครในโลก ไม่ว่าโลกนี้ หรือโลกไหน จะไม่มีการได้อะไรมาฟรีๆ เป็นอันขาด ถ้าไม่ได้มา เพราะลงทุน แลกเปลี่ยน ไปเดี๋ยวนี้ แล้วก็ได้มาเดี๋ยวนี้ เช่น การซื้อขายธรรมดาๆ ก็จะต้องได้มา โดยที่เราเคยได้ "จับจ่าย" หรือลงทุนไว้แล้ว ตั้งแต่หลายมื้อ หลายวันมาแล้ว เราเพิ่งจะได้สิ่งตอบแทน แลกเปลี่ยนนั้นมา หรือไม่เช่นนั้น ก็จะต้องได้มา เพราะเราลงทุน "จับจ่าย" ไว้หลายเดือน หลายปีมาแล้ว พอมาถึงคราว สิ่งเหล่านั้นจะต้อง "ได้มา" เป็นของเรา เราก็จะได้มา บางคนลืมเลือนไปแล้ว เพราะได้ลงทุน "จับจ่าย" ไว้ล่วงหน้า เสียหลายเดือน หลายปีมาแล้ว บางคนจะไม่ได้จำเอาไว้ เสียด้วยซ้ำไปว่า ได้ลงทุน จับจ่าย เอาไว้ เช่นให้ใครๆ เขาไป โดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้นึกคิด จะรับผลตอบแทนอะไร จากเขาเลย จึงจำ ไม่ได้เลยว่า ได้ลงทุน "จับจ่าย" ไว้แล้ว แต่สิ่งที่ให้ไปนั้น มันจะต้อง ส่งผลสะท้อน กลับคืนมายังเราจนได้ อย่างแน่แท้ ไม่แปรปรวน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่เมื่อใด ก็เมื่อหนึ่ง อย่างแท้จริง นั่นแหละคือ สิ่งที่เราจะเห็น เป็นกำไร หรือเป็น "โชค" เป็น "วาสนา" เป็น "บารมี" ของเรา หรือ เรียกกันง่ายๆ ทั่วไปว่า เป็นบุญเก่า เป็นกุศลปางก่อน นั่นเอง ยิ่งบางคนนั้น ได้ลงทุน "จับจ่าย" เอาไว้แล้วข้ามชาติ เป็นชาติๆ เลยทีเดียว ลงทุนจับจ่ายไว้ ตั้งแต่ชาติที่แล้วบ้าง สองชาติที่แล้วบ้าง สามชาติ-สี่ชาติ-ห้าชาติที่แล้วๆ มาบ้าง
คนเหล่านี้จะไม่รู้แน่ๆว่า เขาได้ลงทุน "จับจ่าย" ข้ามชาติไว้ ถ้าใครสะสมไว้มากๆ พอสิ่งเหล่านั้น มาส่งผลให้ ในชาตินี้ ก็ไม่รู้ ไม่แจ้งว่า ทำไมตนเอง ต้องเกิดในที่ดีบ้าง เกิดบนกองเงิน กองทองบ้าง เหมือนคนเกิดมา ไม่เห็นต้องดิ้นรนอะไร แต่ได้มาไหลมาเทมาบ้าง และ ผู้เกิดมา พร้อมมูล ดังนั้น ก็จะไม่รู้ ต้นสาย ปลายเหตุเลย คือ อยู่ในลักษณะผู้ไม่รู้ว่า ตนเกิดมา มีพร้อมได้ด้วยอย่างไร เป็นดังนี้แหละ ส่วนมากที่สุด เพราะฉะนั้น จึงมองกันไม่เห็น อ่านกันไม่ออก รู้กันไม่ได้ว่า ที่แท้นั้น เราจะไม่ได้อะไร มาฟรีๆเลย เป็นอันขาด ไม่ว่าสิ่งใดๆ ทั้งมวล ทั้งสิ่งของวัตถุ และ ทั้งอารมณ์จิตใจ ทุกประการ และ เช่นเดียวกัน ผู้ใดลงทุนอันใดไว้ หรือ "จับจ่าย" ไว้ แต่ยังไม่ได้ "เสพ" สิ่งที่ตน จับจ่ายไว้นั้นๆ ก็จะไม่มี สูญหายไปไหน สิ่งที่ "ลงทุนจับจ่าย" ไว้นั้น ก็จะเป็น "ทุนสะสม" ของเราทั้งสิ้น สักวันหนึ่ง จะต้องหมุนเวียน มาคืนให้เราจนได้
เป็นดังนี้โดยแท้ โดยจริง เพราะสมบัติทั้ง "รูปสมบัติ" และ "อรูปสมบัติ" ในโลกนี้ จะไม่มีเกิดใหม่ และ จะไม่มี สูญหายไปไหน นอกจาก มันจะหมุนเวียน และเปลี่ยนที่อยู่ และแปรสภาพของมันเท่านั้น ปราชญ์แค่ขั้น ไอน์สไตน์ ยังยืนยันได้ตรง ตามพระพุทธองค์ ยืนยันไว้แล้วเลยว่า ในโลกนี้ ไม่มีอะไร เกิดใหม่ ไม่มีอะไรสูญหายไปไหน
ในชีวิตของคนเรา มันมีทั้ง "สมบัติเก่า" หรือ "สมบัติอดีต" อันคือ "ทุนสะสม" ตั้งแต่ชาติใดๆ มาแล้วก็ไม่รู้ บางทีเกิดมาปุ๊บ ได้ทันทีก็มี บางทีเกิดมาแล้ว ต้องรอจังหวะ รอโอกาส "สมบัติเก่า" นั้น จึงจะหมุนเวียน มาหาเรา และมันจะมี "สมบัติปัจจุบัน" อันคือ สมบัติที่เราทำ ในชาตินี้ ลงทุนลงแรงไปเท่านี้ แล้วก็ได้ สิ่งตอบแทน มาเท่านี้ นั่นก็คือ สมบัติปัจจุบันแหละ และมันก็ยังมี "สมบัติอนาคต" หรือ "สมบัติสะสมใหม่" ที่เรากำลังจะทำลงไป ในชาตินี้ นี่แหละ ลงทุนลงแรงลงไป เมื่อทำลงไปแล้วเมื่อใด ถ้าเราไม่ได้ "สมบัติปัจจุบัน" มาตอบแทน "การลงทุน"นั้น ก็จะปัดเป็น "สมบัติอนาคต" ทันที หรือแม้ลงทุนไปแล้ว แต่ได้ "สมบัติปัจจุบัน" ตอบแทนมา น้อยกว่า ที่ควร คือ "ขาดทุน" ก็จงทราบไว้เถิดว่า สิ่งที่เรียกว่า "ขาดทุน" นั่นแหละคือ "ทุนสะสม" ของเรา มันจะถูกปัดลงไปเป็น "สมบัติอนาคต" เท่าจำนวน หรือเท่ากับ "ค่า" ที่เรา "ขาดทุน" นั่นเอง ใครจะได้กำไรอย่างไร ในชาตินี้ ก็จงอย่า ไปอิจฉาเขาเลย ใครจะโกงเราอย่างไร ในชาตินี้ ก็อย่าไปโกรธเขาเลย หรือ ใครจะเอาเปรียบเราอย่างไร ก็อย่าไป ถือสาเขาเลย นั่นคือ เขารับสะสม สมบัติไว้ ให้เรานั่นเอง ดังนั้น "สมบัติอนาคต" ที่ได้สะสมไว้แล้ว หรือ "สมบัติใหม่" ที่เรากำลังจะสร้างจะก่อ (ยังไม่ได้สร้าง) สมบัตินี่แหละ จึงมีความสำคัญ กับคนยิ่งนัก เพราะเราจะสร้าง จะก่ออย่างไร จึงจะทำได้ สมบัติที่เราสร้าง เราก่อนั้น เป็น "สมบัติอนาคต" เป็น "ทุนสะสม" ไว้ จึงจะดี เมื่อได้ชื่อว่า "ทุนสะสม" ก็เรียกนั้นว่า "สมบัติเก่า" เป็น "บุญเก่า" หรือ "บารมีเก่า" ของผู้นั้นๆ ซึ่งจะตามไปให้ผล ในอนาคต นั่นเอง
"สัจธรรม" ไม่มีใครยื้อแย่ง หรือคดโกง บิดเบี้ยว ด้วยวิธีการใดๆ ได้เป็นอันขาด ในโลกนี้ หรือ จะใน โลกไหนก็ตาม ทุกสิ่งอย่าง จะเป็นไปอย่าง "สมดุล" และ "ยุติธรรม" อย่างยิ่ง เป็นแต่ว่า รูปการณ์ ที่บังเกิดผล ออกมาแต่ละคราวนั้น ผู้ต้องการผล จะมี "ตัณหา" ปรารถนา "เสพผล" ของตนเองออกมา ในลักษณะ นานช้า หรือ รีบร้อน หรือ ปานกลาง อย่างไรเท่านั้น
จงรู้ไว้เถิดว่า การกระทำใดๆ ของคนนั้น มีอยู่เพียง ๓ อย่าง คือ กระทำโดยการคิดนั้นหนึ่ง กระทำโดย การพูดนั้นอีกหนึ่ง และ กระทำโดย ลงมือปฏิบัติกันจริงๆจังๆ เลยนั้นอีกหนึ่ง และการกระทำทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม แม้จะเล็กน้อย นิด จนแทบจะไม่นึกว่า เป็นการกระทำ หรือเป็น "กรรม" เลยก็ตาม ก็จะมี "ผล" บวกลบคูณหาร เป็น"กรรม" ของตนเองไว้ทั้งสิ้น ความละเอียด ลออของ "สัจธรรม" หรือ ความจริงแท้นั้น ไม่มีอะไรตกหล่น ไม่มีอะไรผิดพลาด ไม่มีอะไรบกพร่อง มันละเอียด มันซื่อสัตย์ มันตรงไป ตรงมา เสียยิ่งกว่า คอมพิวเตอร์ หรือสมองกล อันเป็นเครื่องคำนวณ ที่เก่งเยี่ยม ในสมัยโลกก้าวหน้านี้ ชนิดใดๆ ที่คนคิดค้น ออกมาได้เสียอีก ดังนั้น อย่าว่าแต่เป็นรูปสมบัติ อันเป็นข้าวของ ทรัพย์สินเงินทอง อันใดต่างๆเลย แม้อรูปสมบัติต่างๆ อันเป็น อารมณ์โกรธ อารมณ์รัก อารมณ์ อิจฉาริษยา อารมณ์ เมตตาปรานี หรือ แม้อารมณ์วาบหวิว ตกใจดีใจใดๆ ที่มันเกิดขึ้น ภายใน จิตใจของตน หรือ สิ่งที่เกิด ในจิตใจ วิญญาณที่ละเอียดอ่อน ยิ่งกว่านั้น มันก็ถูกประเมินค่า ถูกคิดเป็นราคา เป็นตัวเลข เป็นส่วนได้ ส่วนเสีย ที่เก็บสะสมไว้เป็น "กองทุน" ของคนทุกคนทั้งสิ้น ความละเอียดลออ ดังกล่าวนี้นี่เอง ที่ผลักดัน "ชีวิต" ทุกชีวิต ให้กระโดด โลดแล่นไป ตามครรลอง ของแต่ละคน และมันจะไม่เท่ากัน จะไม่เสมอกัน จะไม่เเหมือนกันเลย แม้แต่คนเดียว ในจำนวนคนทั้งโลกนี้ นั่นคือ ความเก่งของ "สัจธรรม" หรือ ที่ภาษา นักธรรมะเรียกว่า "ปรมัตถธรรม" ความละเอียดลออ ของความแท้จริง มันจะไม่ยอม เก็บอะไร ขาดตก บกพร่อง เป็นอันขาดเลยจริงๆ และใน "คน" แต่ละคน ก็จะไม่มีใครทำ "กรรม" ได้เสมอ เท่าเทียมกันเลย แม้แต่คนเดียว "คน" จึงจะไม่มีการซ้ำกันเลย ถ้าได้ตรวจรายละเอียด ที่แท้จริง ทุกสิ่งส่วนของ "คน" ทุกคนในโลก
และ "คน" ทุกคนก็สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ตนเองทั้งสิ้น ไม่ว่ารูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ไปจนอุปนิสัยใจคอ สติปัญญา และ ทั้งสมบัติ ทางโลก ทางวัตถุอื่น อันอยู่นอกตัว เช่น เกิดดี มีสมบัติ หรือเกิดไม่ดี ไม่มีสมบัติ ทุกสิ่งทุกอย่าง สิ้นสิ่งสิ้นอย่าง "คน" เป็นผู้สร้าง เป็นผู้ก่อ ให้ตนเองโดยแท้ ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครบันดาล และไม่มีใคร จะสามารถคดโกง บิดเบือน "สัจธรรม" ไปได้ คนทุกคน มีกรรม เป็นของตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อยู่ ที่อาศัย มีกรรมเป็นสมบัติทั้งสิ้น เชื่อมโยง หมุนเวียน ติดต่อกัน แล้วๆ เล่าๆ อยู่อย่างนั้น อย่าหลงคิดว่า เราได้ผ่านพ้นช่วงนั้น ช่วงนี้ไปแล้วง่ายๆ เลย บางคนคิดเพียงว่า ขณะนี้เห็น "เงิน" กองนี้ ก็อยากได้ ก็หาวิธีคดโกง ฉ้อฉลเอาจนได้ไป แล้วก็อย่าคิดว่า เราจะได้โดยเรียบร้อย ผ่านการ "ได้" ไปแล้ว โดยไม่มีผลตอบแทน หรือ ผูกพันเป็นอันขาด มันยังไม่จบสิ้น ไปได้ง่ายๆ หรอก มันยังจะผูกพัน เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นกรรมกันไป อยู่นั่นเอง
ด้วยหลักแห่ง "สัจธรรม" ดังนี้ ด้วยความเป็นจริงดังนี้ ผู้ใดจะ "สะสม" จึงคือ ผู้ไม่ "จับจ่าย" ออกไปนั่นเอง และเมื่อ "การเสพ" คือการ "จับจ่าย" เพราะฉะนั้น การ "สะสม" จึงคือ "การไม่เสพ" ถ้าใคร "เสพ" มากเท่าใด ผู้นั้นก็ ไม่มีอะไร "สะสม" มากเท่านั้น
บางคน คงจะงงว่าทำไม ข้าพเจ้าต้องพูดถึง สมบัติเก่า-สมบัติอนาคต-สมบัติปัจจุบัน หรือ ทุนสะสม อะไรเหล่านี้ ที่ต้องพูด ก็เพราะ มันเกี่ยวกับ "การเสพ" และข้าพเจ้าก็กำลัง จะคลี่คลาย ขยายความเรื่อง "การเสพ" อยู่ทีเดียว ดังนั้น ถ้าไม่มี "สมบัติ" อะไร เราก็ไม่มี "การเสพ" สิ่งใดขึ้นได้ เพราะการจะ "เสพ" ก็ต้องมี "สิ่งที่คนจะเสพ" แล้วก็ "สิ่งที่คนจะเสพ" นี่แหละคือ สมบัติต่างๆ ที่ข้าพเจ้า ได้เล่ามาแล้ว
สมบัติทั้งหลายแหล่ในโลกนี้ ที่มนุษย์พึงเสพนั้น ก็มีสิ่งที่มีตัวตน มีรูปร่าง อันเรียกว่าเป็น รูปสมบัติ กับสิ่งที่ ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง อันเรียกว่า อรูปสมบัติ และการ "เสพ" ก็คือ การ "สัมผัสรส" สิ่งนั้นๆ หรือ การอาศัยสิ่งนั้นๆ มาก่อเกิด มาช่วยสร้าง "รส" ให้แก่ผู้เสพ และ "รสต่างๆ" ที่มนุษย์ "เสพ" นั้น ก็มีอยู่เพียง ๕ อย่าง เท่านั้นเอง คือ รสแห่งความสวย ความงาม ที่รับได้ทางตา รสแห่งความอร่อย ทางปาก ทางลิ้น รสแห่งความไพเราะทางหู รสแห่งความหอมหวน ชวนใจทางจมูก และรสแห่งการสัมผัสนุ่มเนียน หรือ เสียดสี ซาบซ่าน ทางกาย คนเราเกิดมาเป็นชีวิต ได้รับการเสี้ยมสอนมา ตั้งแต่เกิดทีเดียว ให้รู้จัก สิ่งที่จะเสพ ๕ อย่างนี้ และแล้ว "คน" ก็จะมีชีวิต อยู่กับการเสพสิ่ง ๕ อย่างนี้เท่านั้น และเท่านั้นจริงๆ ที่ "คน" ยึดถือ ผูกพัน และรับมาแนบแน่น ฝังลงไป เป็นชีวิต จิตใจของตน "ชีวิต" จีงไม่มีอื่นไปจาก เกิดมา เพื่อเสพสิ่ง ๕ อย่างนี้เลย
"คน" จึงได้มีการหมุนเวียนมาเพื่อสร้างสิ่ง ๕ อย่างนี้ เพื่อก่อสิ่ง ๕ อย่างนี้ อันพระพุทธองค์ตรัส เรียกว่า รูป - รส - กลิ่น - เสียง - สัมผัสนั่นเอง สร้างเพื่อตนเอง "เสพ" นั้นหนึ่ง สร้างเพื่อให้ผู้อื่น "เสพ" นั้นอีกหนึ่ง ถ้าใครสร้าง เพื่อให้ตนเอง "เสพ" ก็เรียกผู้นั้น "ยังบังเบียดตนเอง" ถ้าใครไม่สร้าง ไม่ก่อ แต่ไปแย่ง ไปเก็บ ไปขอ ของที่ผู้อื่นสร้างมา "เสพ" ก็เรียกผู้นั้นว่า "บังเบียดผู้อื่น" ถ้าผู้ใดสร้าง และมีแต่สร้าง แต่ไม่ "เสพ" เลย ผู้นั้นแหละ คือ ผู้ที่ได้ชื่อว่า "คนดี" เป็นผู้มีแต่ "ความดี" ครองไว้ซึ่งการไม่บังเบียดผู้อื่น และไม่บังเบียด แม้แต่ตัวเอง
ดังนั้น การเสพสมบัติต่างๆ ดังได้เล่ามาแล้ว ก็ลองนึกตรองดูดีๆเถิดว่า คนได้หัด "เสพ" กันมา ตั้งแต่เกิด ทีเดียว พอคลอดปุ๊บออกมา ก็เสพการสัมผัสทางกาย คือ รับสัมผัสความร้อน ความเย็น ความอ่อน ความแข็ง สัมผัสเป็นเจ็บ เป็นปวด เป็นนุ่มนิ่ม เป็นซาบซ่าน เพลิดเพลินอะไรก็ตามแต่ อันเป็น การสัมผัสกาย เป็นลำดับแรก ที่คนเกิดมารับ "เสพ" ก่อนรสอื่น จาก "รส" สัมผัสกาย แล้วก็สัมผัสกลิ่น ทางจมูก เสียงทางหู และรสอร่อยทางลิ้น ไปเรื่อยๆ เป็นลำดับ ส่วนสัมผัสทางรูป ทางตานั้น เด็กสัมผัส ทีหลังเพื่อน เพราะเกิดมาหลายวัน ถึงจะลืมตา ที่จริง ถ้าใครไม่เสี้ยมสอนเด็ก ให้มากนัก หรือ ไม่สร้าง อุปาทาน (ความยึดถือ) ให้เด็กมากนัก เด็กผู้นั้น ก็จะเป็นผู้ "เสพ" แต่น้อย และ มีทุกข์ แต่น้อย เช่น ไม่ต้องสอน ให้เด็กรู้จัก อาหารมากอย่างนัก และไม่ต้องแนะว่า อย่างโน้นอร่อย อย่างนี้อร่อย ไม่ต้องสอน ให้เด็กรู้ว่า เสื้อผ้าอย่างนั้นงาม อย่างนี้ไม่งาม รูปร่างอย่างนี้สวย อย่างนี้ไม่สวย ดอกไม้อย่างนั้นหอม หรือนั่นดี นี่ไม่ดีต่างๆ นานา เด็กก็จะไม่มีอุปาทานมากเรื่อง จะไม่มีความปรารถนานา มากเรื่อง จะไม่มี ความยึดนั่นยึดนี่ ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ สำคัญอย่างนั้น อย่างนี้ ออกไปมากมาย เด็กก็จะไม่คิดฟุ้งเฟ้อ "หลง" ไปในสิ่งต่างๆ มากออกไป ความยึดถือ ก็ไม่มาก นั่นสวย นี่งาม นั่นดี นี่ไม่ดี ก็ไม่มากเรื่อง ตามต้นเหตุ ก็จะมีทุกข์แต่น้อย และในเรื่องอื่นๆ เช่นกัน ถ้าเด็กไม่ได้เรียนรู้ สิ่งยึดถือ (อุปาทาน) จากพ่อแม่สอน หรือ พบเห็นจาก ตัวอย่าง สิ่งแวดล้อม มากมายนัก เด็กผู้นั้น ก็จะไม่เลือกมาก ไม่มีความดิ้นรน ไม่มีทุกข์อะไร มากมาย เป็นอันขาด ทุกข์ของเขา จะน้อยจริงๆ (ผู้เลี้ยงลูกด้วย "ความฟุ้งเฟ้อ" จงสำเหนียกดู)
เช่น ถ้าเราไม่เคยให้เด็กรู้เลยว่า การจัดงานวันเกิดนั้น เป็นสิ่งหนึ่ง หรือ เรื่องหนึ่งที่จะต้องทำ เด็กก็จะ ไม่สนใจ ในเรื่องการจัดงาน วันเกิดเลย ความยุ่งยากใดๆ อันเกี่ยวกับ การจัดงานวันเกิด ก็จะไม่มี แต่ชาวกรุง ทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ ผู้มีอันจะกินส่วนใหญ่ พอเด็กครบเดือน ก็เริ่มจัดงานวันเกิด ให้ลูกแล้ว พอครบปี ก็เป็นอันแน่เลย ต้องมีฉลองวันเกิด พอขวบ-สองขวบ-สามขวบ ก็จัดมาเรื่อย เด็กย่อมรับรู้ มาจาก พ่อแม่ก่อให้เกิด นั่นแหละเป็นใหญ่ จึงกลายเป็นภาระที่ต้อง "เสพ" อันหนึ่งขึ้นมา แล้วพ่อแม่ จะต้องลงทุน เหน็ดเหนื่อย หาสมบัติ มาประกอบการ "เสพ" งานวันเกิด ให้ลูกไปทุกปีๆ เพราะลูกกว่าจะโต กว่าจะหาเงิน ได้เองนั้น หลายสิบปี แล้วทุกข์เป็นของใคร เป็นของพ่อแม่เอง ใครก่อใครสร้าง ก็เพราะตัวพ่อ ตัวแม่เอง สร้างเอง และแม้ลูก ก็จะต้องรับเอา "เรื่องนี้" ไปทุกข์ต่อไปด้วยอีก อย่างถอนถอด ได้ยากยิ่งด้วย
สิ่งเหล่านี้ เป็น "ทุกข์" ที่เกิดขึ้น เพราะความไม่เข้าใจ ไม่รู้ความแท้จริง จึงสร้าง "ทุกข์" ให้ตนเองโดยแท้ เป็นตัวอย่าง เรื่องหนึ่ง ในหมื่น ในแสน ในล้านเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่อง นอกจากตัวไปอีก ที่ข้าพเจ้าจะไม่พูด ต่อละ เพราะเดี๋ยว จะออกนอกเรื่องไป ส่วนเรื่องการเสพ ของตนเองนั้น ก็เกิดมาจากพ่อแม่ และคนอื่นๆ ในโลกนั่นเอง สอนให้ "เสพ" และพาเรา "เสพ"
อย่างไรจึงจะเรียกว่า "เสพ" อย่างไรจึงจะเรียกว่า "ไม่เสพ" ปัญหานี้ ควรจะได้แยกแยะให้ละเอียด
"เสพ" ในที่นี้ ข้าพเจ้าหมายเอาความ คือสิ่งที่เป็นส่วนเกิน หรือสิ่งที่ไม่จำเป็น ที่คนรับมาให้ตนเอง พยายามตั้งใจ ตรองให้ดี นี่คือ ความสำคัญ ที่คนควรจะรู้จัก จะได้เป็น "คนดี" ได้ สิ่งที่เป็นส่วนเกิน หรือ สิ่งที่ไม่จำเป็น นั่นก็คือ สิ่งที่เรียกว่า รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส นั่นเอง พอได้ยินคำ ๕ คำนี้ คนส่วนมาก ก็คิดว่า ตนรู้จัก คำ ๕ คำนี้ดีแล้ว เสียทุกทีไป และคิดว่า ตนเข้าใจคำ ๕ คำนี้ แจ่มแจ้ง เพียงพอแล้ว และ ก็เลย ไม่ค่อยจะตั้งใจพิจารณา อย่างขมักเขม้น จริงจังสักที เลยไม่รู้จัก รูป-รส-กลิ่น-เสียง - สัมผัส อย่างจริงจัง แท้จริงสักที จึงจะตัดก็ตัดไม่ถูก จะลดก็ลดไม่ถูก ว่าอะไรตัวไหน คงปฏิบัติอื่น อันไม่ใช่ลดเจ้า ๕ สิ่ง ๕ อย่างนี้อยู่นั่นเอง แล้วคนจะเป็น คนที่ปฏิบัติตน ไปในทางที่ถูก ภายใต้ชื่อว่าเป็น "พุทธศาสนิกชน" ไม่ได้ อย่างเด็ดขาด คงปฏิบัติอยู่แต่ในศีล ในพรตที่ผิดๆ เพี้ยนๆ นอกลู่นอกทาง อยู่นั่นเอง จึงเรียกว่า ยังไม่ใช่ "มรรค" ที่ถูกต้อง หรือ เรียกว่า ยังไม่เป็น "สัมมาอริยมรรค" นั่นเอง จึงจะเป็น "คนดี" ที่แท้ ที่ถูกตามนัยแห่ง "พุทธศาสนา" ไม่ได้เลย ผู้ที่จะเป็น "คนดี" หรือเรียกว่า "คนมีปัญญา" หรือ เรียกเป็นศัพท์ เพราะๆว่า "อริยบุคคล" นั้น ก็คือ ผู้ที่จะต้องปฏิบัติตน ให้ถูกทาง คือ ทำ "ความดี" ให้ถูก รู้จักคำว่า "ความดี" ให้แจ้ง และความดีที่ว่านั้น ก็คือ อย่ามัวเมากับสิ่งที่ไม่จำเป็น สิ่งที่เป็นส่วนเกิน นี่เอง
"คน" ถูกเสี้ยมสอนมาให้ชอบ ให้รัก รูปสวย-รสอร่อย-กลิ่นหอม-เสียงเพราะ- สัมผัสถูกใจทุกคน ดังนั้น จึงมีความพอใจ กับไม่พอใจ เกิดขึ้นมา เพราะเหตุนี้ ถ้า "คน" ผู้ใดไม่รู้ว่า สวยคืออะไร? อร่อยคืออะไร? หอมคืออะไร? ไพเราะคืออะไร? นุ่มเนียน ซาบซ่าน คืออะไร? "คน" ผู้นั้นก็จะไม่มี "ทุกข์" ไม่ปรารถนาจะ "เสพ" อันใดเป็นอันขาด แต่เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะให้ "คน" ผู้มี "จิต" อันคือ ความรับรู้ ไม่รู้สิ่ง ดังกล่าว ๕ ชนิดนั้น เพราะสิ่ง ๕ ชนิดนั้น มันคือ "โลก" มันคือ ส่วนประกอบของโลก และโลกก็อาศัย ๕ สิ่ง ๕ อย่างนี้ ผูกสัตวโลก ไว้กับโลก โลกจึงจะอยู่ได้เป็นโลก โลกจึงจะไม่พินาศ ดังนั้น เราจะไม่รู้ ๕ สิ่งนี้นั้น ย่อมไม่ได้ เกิดเป็นคน จะต้องรู้ ๕ สิ่ง ๕ อย่างนี้แน่ๆ เราก็จะต้องใช้ "ปัญญา" ตามรู้ ๕ อย่างนี้ ให้ซึ้ง ให้ชัด ให้แจ้งว่า ๕ อย่างนี้ มันเป็น "เครื่องมือของโลก" เป็นสิ่งหลอกล่อ ของโลก เป็นส่วนเกิน เป็นสิ่งที่ไมจำเป็นจริงๆ สำหรับชีวิตเลย เมื่อผู้ใดรู้ได้ชัดเจน แจ่มแจ้งดังนี้ เขาก็จะไม่ "หลง" ให้รูป-รส-กลิ่น- เสียง -สัมผัส มามีอำนาจ เหนือตน เป็นอันขาด "คน" ผู้นั้น ก็จะมีชีวิตอยู่ อย่างสบาย อย่างสงบ อยู่อย่างเรียบร้อย ไม่มีเดือดร้อน แม้เขาจะกิน ก็จะกินอาหารจริงๆ คือ กินธาตุต่างๆ ที่ร่างกายต้องนำไปสังเคราะห์ ในร่างกาย เช่น กินข้าว เขาก็จะกินข้าวเฉยๆ ได้กินผัก เขาก็จะกินผักเฉยๆ ได้กินเกลือ เขาก็จะกิน เกลือเฉยๆ ได้กินน้ำตาล เขาก็จะกินน้ำตาลเฉยๆได้ หรือไม่จะนำสิ่งต่างๆ นั้นมาผสม รวมปนกัน ให้เละๆทุกรส เขาก็จะกินได้ อย่างธรรมดา เขาจะไม่มีความสำคัญอะไร กับคำว่า เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เขาจะกินจริงๆ กินอย่างแท้ กินคือ เอามันใส่ปาก เคี้ยว กลืนลงไปในกระเพาะ เพื่อส่งสิ่งเหล่านั้น ลงไป ให้อวัยวะข้างใน ทำหน้าที่ย่อย เอาธาตุต่างๆ ไปใช้ในร่างกาย
ดังนั้น เป็ดย่าง หมูหัน ผัดเปรี้ยวหวาน แกงกะหรี่ ฝอยทอง ขนมหม้อแกงอะไร ก็จะไม่มี ความสำคัญ อันใดกับ "คน" ผู้นี้เลย แม้จะตกแต่ง ปรุงมาอย่างหอมหวาน รสเลิศ จัดใส่ถ้วย รองพานทองคำ มายังไง คนผู้นี้ ก็จะไม่ตื่นเต้น ดีใจ หรือวาบหวิว ยินดี ไม่ยินดีอะไรด้วย ทั้งนั้น คนผู้นี้แหละ คือ ผู้รู้แท้ รู้เหตุ รู้ผล ของชีวิต ที่แท้จริง รู้ว่า ถ้าจะให้ร่างกายทรงอยู่ได้ ก็กินอาหาร ที่มีธาตุแป้ง ธาตุโปรตีน ธาตุคาร์โบไฮเดรต ธาตุน้ำตาล ธาตุเกลือ ธาตุแร่บางชนิด เข้าไปในร่างกาย แล้วมันจะปรุงแต่ง มาเป็นร่าง เป็นกาย ของผู้กินมันเข้าไป ก็เท่านั้น ผู้นั้นก็ จะไม่หลง "เสพ" รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสใดๆเลย และโดยแท้ โดยจริงที่สุด "คน" ผู้จะให้ร่างกาย ทรงอยู่นั้น ก็มีเรื่อง "กิน" นี่แหละ เป็นเรื่องเดียว ที่จะต้องหา "สมบัติ" มาให้มัน เรื่องอื่นๆ นอกกว่า "อาหาร" นี้แล้ว ไม่มีอะไรสำคัญกับชีวิต มากเท่าอีกเลย แม้จะเป็น "ที่อยู่" แม้จะเป็น "เครื่องนุ่งห่ม" และแม้จะเป็น "ยารักษาโรค" ก็ตาม อีก ๓ อย่าง ดังกล่าวนี้ เป็นเพียง ส่วนประกอบ ที่ต้องอนุโลมเข้าเป็น สิ่งที่คน จะต้องมีให้ตนบ้างเท่านั้น ถ้าผู้ใดเป็น "คนดี" แท้แล้ว จะไม่อนาทร แต่อย่างใด มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ยิ่งเรื่อง "การสืบพันธุ์"แล้ว ยิ่งเป็นเรื่องกิเลส ของชีวิตแท้ๆ เป็นกิเลส อันต่ำต้อย และง่ายดายที่สุด ที่ "คนดี" จะต้องตัดให้ขาด ก่อนอื่น
ดังนั้น จึงไม่ต้องอธิบายเลยก็ได้ว่า บ้านสวย บ้านงาม เครื่องแต่งกายสวยหรู งดงามสง่า นางสาวไทย นางงามโลก อะไรเหล่านั้น จึงล้วนแต่เป็นเรื่อง เป็นสิ่งที่เป็นส่วนเกิน นอกความจำเป็น ที่แท้จริงของ "คน" ไปทั้งสิ้น ถ้าผู้ใด ยังหลงอยู่ในรส ในรูป ในกลิ่น ในเสียง ในสัมผัส ของสิ่งเหล่านั้นยิ่ง ก็ย่อมคือ ผู้ยัง "เสพ" อยู่อย่างหนัก ทั้งนั้น "ความดี" แท้ๆ จึงคือ การไม่หลงในสิ่งทั้ง ๕ นี้ และ ต้องลดให้ได้ ใครประกอบ สิ่งอื่นใด เจริญงอกงามอย่างไร จึงไม่ได้ชื่อว่า "ความดี" ที่แท้ ที่ถูกเลย "ความดี" แท้ๆ คือ การลด การละ สิ่งทั้ง ๕ นี้เท่านั้น
เมื่อผู้ใด ยัง "เสพ" อยู่ ก็คือ ผู้ยัง "จับจ่าย" อยู่ เมื่อ "จับจ่าย" ก็ต้องมี "สมบัติ" ไปแลกเปลี่ยน หรือ ไปเป็น ค่าจับจ่าย ผู้ที่มี "สมบัติที่น้อย" จะเพราะเหตุ "สมบัติเก่า" แต่ชาติก่อนๆ ไม่ได้สะสมมา หรือ ไม่มี ความสามารถหา "สมบัติปัจจุบัน" ได้เพียงพอ จะนำไปแลก หรือไป "จับจ่าย" ก็ดี ถ้าผู้นั้น ยังปรารถนาหนัก ที่จะต้อง "เสพ" ก็ย่อมต้องทุกข์ทนหม่นไหม้ ก็ต้องดิ้นรนต่างๆ นานา เมื่อสมบัติของตนไม่มีจริงๆ ก็ต้องไป "บังเบียดผู้อื่น" เพื่อให้ได้ ซึ่งสิ่งที่ปรารถนาเสพนั้นๆ คนผู้นี้ก็คือ คนไม่มี "ความดี" เลย ยังปฏิบัติชั่วอยู่ ตราบที่เขายังใฝ่ "เสพ" และยัง "บังเบียดผู้อื่น" เท่ากับผู้นั้นก่อ "ความไม่ดี" คือ "บาป" คือ "อกุศล" นั่นเอง และ ผู้ที่มี "สมบัติ" ของตัวเอง เพียงพอล่ะ เช่นมี "สมบัติเก่า" อยู่ คนผู้นั้น ก็ต้องควักเอา "สมบัติเก่า" ของตนเอง นั่นแหละ ไปแลก หรือไม่ "จับจ่าย" เพื่อเอาสิ่งที่ตนปรารถนา "เสพ" มา "เสพ" ให้ได้ แล้ว "สมบัติเก่า" นั้น มันก็ถูกควัก ถูกแบ่ง ถูกแย่งออกไป ก็คือการ "เบียดเบียนตนเอง" ด้วยการกินสมบัติเก่า ของตนนั่นเอง และหรือ ถ้าคนผู้นี้ ไม่มี "สมบัติเก่า" จะกินล่ะ เมื่อไม่มี ก็ต้องออกเรี่ยว ออกแรง ในขณะนี้หา "สมบัติปัจจุบัน" ให้ได้ เมื่อหาได้ ก็นำไป "จับจ่าย" แลกเอาสิ่งที่ปรารถนา "เสพ" มา "เสพ" คนผู้นี้ก็คือ ผู้กินเรี่ยวแรงของตนเอง อยู่นั่นเอง ก็ยังคือผู้ "บังเบียดตนเอง" อยู่วันยังค่ำ คนผู้นี้ จึงยังคงไม่มี "ความดี" ยังไม่ใช่ "คนดี" ที่แท้อยู่อีกเช่นกัน
เพราะเหตุดังนั้นแล ผู้ใดไม่ "เสพ" ในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสนั้น จึงคือ ผู้ที่ได้ชื่อว่า ไม่ต้อง "จับจ่าย" คือ ผู้ที่ไม่ต้อง "บังเบียดผู้อื่น" คือผู้ไม่ "บังเบียดแม้ตัวเอง" คนผู้นี้แล จึงคือ "คนดี" คือผู้มี "ความดี" คือผู้มี "บุญ" คือผู้มี "กุศล" คือผู้ยังประโยชน์ทั้งแก่ตน และผู้อื่นพร้อม
ยังประโยชน์อย่างไร? ยังประโยชน์ คือ เป็นผู้เห็นแจ้งในความแท้จริงทั้งปวง รู้ว่า รูป-รส-กลิ่น -เสียง -สัมผัส เป็นของเก๊ เป็นของไม่จำเป็น ที่คนควรหลง ควรเหน็ดเหนื่อยกับมัน ท่านผู้นี้ จึงไม่จำเป็น จะต้องอยู่เพื่อมัน หรือ ให้มันมามีบทบาท บงการชีวิต ท่านจะตายเสียเมื่อใด ท่านก็ตายได้ โดยท่าน จะไม่เห็นว่า "ชีวิต" มันสำคัญอะไรเลย ท่านจะไม่อินังขังขอบ ชีวิตเลยจริงๆ แต่ถ้าคนเหล่าใด ยังคิดว่า ท่านผู้นี้ "ควรจะมีชีวิตอยู่" เพื่อจะได้สั่งสอน แนะนำให้คนอื่นๆ เป็น "คนดี" อย่างท่านบ้าง คนเหล่านั้น ก็ต้องหา "อาหาร" จริงๆ "อาหาร" แท้ๆ อันไม่แพง ไม่สูงไปด้วยราคา ไม่ต้องเพียบพร้อมไปด้วยรูป -รส -กลิ่น -เสียง -สัมผัส อันใดเลย ไปให้ท่านกิน เพื่อร่าง เพื่อกายของท่าน จะได้ทรงอยู่ แล้ว ท่านจะได้ มีชีวิตอยู่ ได้สอน ได้แนะ "ความดี" ที่ท่านรู้แจ้ง เห็นจริงนี้ให้บ้าง ผู้นั้นๆ ก็จะได้นำมา ปฏิบัติตาม ทำตน ให้เป็น "คนดี" สร้าง "ความดี" ให้เต็ม ให้ครบ เป็น "คนดี" บริบูรณ์อย่าง ท่านต่อไปได้
นั่นคือ การกระทำขั้นสุด ขั้นที่ถูกต้องที่สุด ที่ตนควรทำ คือ ถ้าจะสงเคราะห์ หรือ "ให้" อะไรแก่ผู้ใด หรือ ที่เรียกกันว่า "ทำบุญ" นั่นแหละ จึงควรจะ "ให้" แก่ "คนดี" แท้ๆ เช่น "คนผู้รู้แจ้งเห็นจริง" ดังกล่าวนี้ จึงจะเป็น "กุศล" เป็น "บุญ" เป็น "ความดี" เพื่อ "ความดี" ที่ถูกที่ตรง ที่ควร ที่ชอบที่สุด เพราะ "คนดี" จะได้อยู่เพื่อสอน เพื่อบอก เพื่ออธิบาย "ความดี" ให้แก่ผู้ยังไม่รู้ต่อไป เพราะความเป็นจริงดังนี้แล ท่านจึงเรียก "คนผู้รู้แจ้งเห็นจริง" แล้วนี้ว่า เป็น "เนื้อนาบุญ" เป็นผู้ที่ควร "หว่านพืชลงไป" เพราะจะเป็น ผลประโยชน์ ที่เกี่ยวเนื่อง หรือ ก่อเกิดส่งผลแต่ "ความดี" แต่อย่างเดียวเท่านั้น ทั้งผู้ที่จะลงทุนลงไป และผู้ที่จะอยู่ คือผู้รับทุนนั้น ก็จะให้ประโยชน์ แผ่ผล กระจายผล อันจะเป็นแต่ "ความดี" เท่านั้น ออกมา ให้แก่คน แก่โลก อันจะไม่สูญเปล่า และไม่เกิดพิษ เกิดภัย หรือ เกิดโทษใดๆเลย นอกจาก "คุณ" ความดี แต่ถ่ายเดียว และแม้ "การให้" ใดๆ ผู้ที่จะ "ให้" ก็ต้องควรรู้ด้วยว่า ผู้เป็น "คนดี" นี้ จะไม่ต้องการอะไร มากไปกว่า "อาหาร" เป็นสำคัญที่สุด ซึ่งเรียกสิ่งนี้ และเป็นเพียงสิ่งเดียวจริงๆ ที่ท่านผู้เป็น "คนดี" จนทรงยึดถือ เป็นภาระ ออกตระเวน กระทำเป็นการประจำ คือ "บิณฑบาต" หรือการขอรับเอา "อาหาร" นี่เอง นอกกว่านี้แล้ว จะไม่มีเรื่องใด อันใด ที่ถือเป็น "ภาระปัจจัย" ของ "คนดี" อย่างแท้จริงเลย ด้วยดังนี้ ถ้าต้องการ "คนดี" นี้ ให้อยู่กับเรา อยู่กับสังคมอย่างเรา ก็จึงต้องการใส่บาตร และถืออีกอย่างก็คือ จึงต้องหา "ผ้าปิดกาย" อันคือ เครื่องนุ่งห่ม ธรรมดาๆ ให้แก่ท่านด้วย ถ้าเห็นว่า ท่านขาดเหลือลงบ้าง แต่ไม่จำเป็น ต้องนำไป ประเดประดัง ให้ท่านเกินพอ ให้เครื่องนุ่งห่มแก่ท่าน เป็นครั้งคราวแล้ว นานชั่วเวลาอันควร จึงจะให้ท่านอีก เรื่องเครื่องนุ่งห่มนี้ ถ้า "คนดี" ท่านอยู่ของท่าน แต่ลำพังจริงๆ ท่านก็ไม่ต้อง ลำบากอะไร ท่านอาจจะไม่ต้อง ใช้นุ่งห่มเลยก็ได้ แต่ถ้าเราต้องการ จะให้ท่านอยู่ ในที่ใกล้กับเรา หรือ จะให้ท่านพำนักอยู่ ในสังคมของเรา เราก็ต้องหาให้ท่านคลุมกาย เพราะถ้าท่าน ไม่คลุมกาย ก็ "คน" เองนั่นแหละ จะลำบากใจ เพราะจะทนเห็นท่าน เปลือยกายไม่ได้แน่ และ เรื่องของ ที่อยู่ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน เราก็ต้องจัด ให้ท่านนิดหน่อย ท่านจะได้มีที่อยู่ ที่แน่นอน เพื่อเรา จะได้ ไปหาท่าน ไปเล่าเรียนศึกษากับท่านได้ถูกที่ ไม่ใช่จะไปหาท่าน ก็ไม่รู้ว่า ท่านจะไปอยู่ที่ไหน เพราะถ้า ไม่จัดหา ที่ทางให้ท่านอยู่ เป็นหลักแหล่งบ้าง ท่านก็ต้องไปหาที่อยู่ อันพอสบาย ของท่านเอง ซึ่งเป็นของแน่ว่า อาจจะต้อง เปลี่ยนที่ไปตามฤดู ตามกาล หรือตามเรื่องของท่านได้ และถ้าท่าน ไม่สบาย ป่วยไข้ มีเชื้อโรค เข้าไปบังเบียด ร่างกายของท่าน เราก็หายา ไปรักษาท่าน ให้ท่านไม่ตาย จะได้อยู่สอนคน ให้เป็น "คนดี" ได้
ความสำคัญแท้จริง ก็มีอยู่เท่านี้ จะมีสิ่งอื่นอีกบ้าง ที่เรียกว่า "บริขาร" ก็คือเครื่องใช้ประกอบ ที่สำคัญยิ่ง จำเป็นแท้ๆ เท่านั้น "คนดี" จริงๆ ไม่ได้ต้องการอะไร มากไปกว่านี้ ท่านจะอยู่อย่างมี "ชีวิต" แท้ อยู่อย่าง บริสุทธิ์ ผุดผ่อง อยู่อย่างไม่มีความเดือดร้อน อันใดเลย อยู่อย่าง เป็นมประโยชน์ แก่คน แก่โลก ถ้าคน และโลก ต้องการ "ความดี" ดังที่มีอยู่ในตัวของ "คนดี" ผู้นี้ ดังนั้น การที่ "คน" หาอะไร อันมากเรื่องกว่า ปัจจัย ๕ และ "บริขาร" ที่จำเป็นจริงๆ ไปประเดประดังให้ "พระ" จึงเท่ากับ ผู้นั้นกระทำผิดใน "พุทธศาสนา" คือเท่ากับ ช่วยฉุด "พระ" ให้หลงอยู่ในสมบัติ ที่เป็นของเก๊ ของปลอมเท่ากับเอา "อกุศล" ไปบรรจุ ไปยัดเยียดให้ "พระ" เพราะ "พระ" คือผู้จะลด จะละเว้นห่างไกล ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ "อาหาร" แท้ๆ แม้ปัจจัย ๔ ก็ต้องใช้อย่างพิจารณา อยู่ทุกขณะจิตอยู่แล้ว นั่นคือ "คน" ต้องระวัง อย่าทำ "บาป" ทำ "อกุศล" ลงไป โดยไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้น "คน" ผู้ใดก็ตาม ถ้าจะลดการ "เสพ" รูปสวย รสอร่อย เสียงเพราะ กลิ่นหอม สัมผัสนุ่มนิ่ม อันใดลงไปก็ดี ก็คงจะต้อง ลำบากแก่ใจ เป็นแน่ จึงจะต้อง "ฝืนทน" ถ้าใครลดการ "เสพ" ลงไปได้ มากเท่าใด "คน" ผู้นั้นก็จะยิ่งมี "สมบัติ" เหลือมากเท่านั้น เพราะการ "จับจ่าย" จะน้อยลงๆ ยิ่งลดลงหมด ได้ไม่ "เสพ" เลย คนผู้นั้น ก็คงจะเหลือ "สมบัติ" ที่ไม่ได้จับจ่ายมาก เท่าที่จำนวนตนเองมีทันที "สมบัติ" ที่เหลือ เหล่านั้นแล คือ "บุญ" คือ "กุศล" คือ "บารมี" คือ "ความดี" ที่แท้จริง ยิ่งเมื่อ คนผู้นี้ ได้กลายเป็น "คนดี" อย่างแท้แล้ว "สมบัติ"ต่างๆ ที่"คน" ผู้นี้ได้สะสม ได้เพียรหาไว้นั้น มันก็จะตกเป็นสมบัติ ของคนอื่น ของโลก ไปในทันที ประโยชน์อันจะเกิดแก่ บุคคลอื่น ก็จะมีผลพลอยได้จาก "สมบัติ" นี้เอง จึงเรียกว่า "คนดี"นั้น ย่อมเป็นประโยชน์ถ้วนทั่ว เพราะ "คนดี" มีแต่ "ทำ" แต่ไม่มีการ "เสพ" เป็นผู้คง "ความดี" เพื่อให้ เป็นผู้มี "บุญ" เพื่อให้ เป็นผู้มี "กุศล" เพื่อให้
ตราบใด ที่ยังไม่ตาย ก็จะยังเป็นตัวอย่างอันดี เป็นผู้ทรงไว้ซึ่ง "ความดี" ให้คนรู้ คนเห็น คนปฏิบัติตาม ก็ได้ชื่อว่า ท่านยังประโยชน์แก่โลก แก่คนแล้ว ยิ่งถ้าท่านได้สอน ได้บอก ได้อธิบาย ได้กล่าวแจ้ง แก่คนทั่วไปด้วย ก็ยิ่งแสดงว่า ท่านได้ลงทุน ลงแรงไปยิ่งกว่า ดังนั้น "สมบัติ" อัน "สัจธรรม" จะต้องจัด ให้ท่านนั้น ก็จะต้องถูกประเมินเป็นค่า เป็นราคาขึ้นมาอีกเช่นกัน เป็น"ความดี" เป็น"บุญ" เป็น"กุศล" แต่กระนั้น ก็ดี ท่านผู้นี้ จะไม่ต้องการ "สมบัติ"ใดๆอีกแล้ว "สมบัติ" ที่มันจะต้องเกิดจริง เป็นไปจริง ดังได้อธิบาย มาแต่ต้นนี้ จะตกเป็นของใครล่ะ ถ้าไม่ใช่ของ "คน" ที่อยู่ในโลกนี้ อื่นๆ ทั่วไป ที่ไม่ใช่ ตัวท่านเลย
ท่านผู้เป็นอยู่ดังนี้แล จึงได้ชื่อ "คนดี" แท้ๆ และเป็นผู้รู้จัก "ความดี" ที่ถูกต้องแท้จริง อย่างไม่ผิดเพี้ยน และ เป็นผู้มีคุณแก่โลก โดยแท้จริง
สรุปได้ว่า "ความดี" แท้ๆ นั้นก็คือ การฝืนทน หรือ การทนทุกข์ สู้ทุกข์ในโลก อันสายตาของ "คน" ธรรมดาๆ ที่เห็นเป็นการฝืนทน เห็นเป็น "ทุกข์" นี่แหละ แต่โดยแท้จริง ก็ไม่ใช่ "ทนทุกข์" ที่จริงเป็นระเบียบ แบบแผน เป็นทางเดิน ที่จะบุกบั่น มุ่งมั่นไปสู่ "ความดี" เหมือนเด็กเกิดมา ต้องมีหน้าที่ ไปโรงเรียน ทำการบ้าน แม้จะรู้สึกยาก จะรู้สึกลำบาก รู้สึกจะต้องทนอย่างไร ก็ต้องพยายาม ซึ่งเด็กเขา ก็จะรู้สึกว่า เขาต้อง "ฝืนทน" ต้องแบกภาระนั้น เช่นกัน จึงต้องเรียก อาการนี้ว่า ฝืนทน หรือบำเพ็ญเพียร มานะ บากบั่น ให้มากๆเท่าใด เราก็จะได้ "ความดี" มากเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ เราต้องอดทนฝืนใจ เราอดทน ไม่เสพสุขทางโลก ให้ได้มากเท่าใด นั่นแหละ เป็น "ความดี" เป็น "บุญ" เป็น "กุศล" มากขึ้นเท่านั้น หรืออดทน ฝืนข่มตัวเอง ให้ตนเองสมใจ ในสมบัติทางโลก น้อยลงเท่าใด นั่นคือ ได้ "ความดี" หรือได้ "บุญ" ได้ "กุศล" มากขึ้นเท่านั้น
"ความดี" จึงคือ การไม่เสพสมบัติทางโลก ทั้ง รูปสมบัติ และอรูปสมบัติ นั่นคือ ต้องบริจาคลาภ ไม่ก่อยศ ไม่สร้างสรรเสริญ ให้เกิดกับใจตน ในทุกทาง และไม่หลง "เสพสุข" อย่างที่ประกอบไปด้วย รูป-รส-กลิ่น-เสียง - สัมผัส หรือคือ ต้องพยายาม "ทนทุกข์" เพราะหัดอด หัดทน ไม่หลงในรูป-รส-กลิ่น-เสียง - สัมผัส ให้ได้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น