เตือนใช้พลาสติกเลี้ยงเด็ก เสี่ยงมะเร็ง - เบี่ยงเบนเพศ
โรงพยาบาลเด็กห่วงพ่อแม่ใช้ภาชนะพลาสติกเลี้ยงเด็ก เสี่ยงมะเร็ง แถมเด็กมีสิทธิ์เบี่ยงเบนทางเพศ แถมเป็นหมันในเพศชาย เพราะสารจะไปรบกวนระบบฮอร์โมน หมอชี้ต่างประเทศหันใช้ขวดนมพลาสติกชนิดใหม่ "5 PP" ทนความร้อนได้ดีกว่า แต่ไทยยังพบไม่มากในท้องตลาดที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) เมื่อวันที่ 23 ก.ย. มีการเปิดเผยผลการศึกษาพฤติกรรมการใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ในโครงการอาหารปลอดภัย เด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ปัจจุบันสารพิษในพลาสติกยังไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหาหลักของระบบสาธารณสุข แต่ทางสถาบันฯ เห็นว่าสารพิษในพลาสติกมีความสำคัญสำหรับเด็กไทย เพราะพลาสติกถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และหากภาชนะพลาสติกที่มาบรรจุอาหารและน้ำดื่มให้กับเด็กด้วย วิธีการที่ไม่ถูกต้องและปลอดภัยจะส่งผลให้เกิดการสะสมของสารพิษต่าง ๆ ทำให้เด็กไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ทารก และเด็กเล็ก พญ.นัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในฐานะหัวหน้าโครงการอาหารปลอดภัย เด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก กล่าวว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยมีประเด็นศึกษาด้านสุขภาพในเรื่องสารพิษจากพลาสติก ที่สำคัญจากข้อมูลการศึกษาพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อ วิธีการใช้งานภาชนะพลาสติกแต่ละประเภทที่ถูกต้องและปลอดภัย
พญ.นัยนาชี้แจงว่า พลาสติกแต่ละชนิดหากนำไปใช้อย่างผิดวิธีจะทำให้สารเคมีต่าง ๆ ปนเปื้อนในอาหาร เช่น สาร BPA ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติกชนิดแข็งใสที่เรียกว่า โพลีคาร์บอเนต เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตขวดนมสำหรับเด็ก เมื่อถูกความร้อนจากการต้มขวดนมจะทำให้สาร BPA ละลายออกมาปนเปื้อนในอาหาร โดยศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ (NIP) ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริการะบุว่า สารชนิดนี้จะส่งผลต่อระบบประสาทพัฒนาการของทารกในครรภ์ เด็กทารก และเด็กเล็กได้ และอาจเป็นสาเหตุก่อมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้มีการทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า สาร BPA มีลักษณะเป็นตัวรบกวนฮอร์โมน ทำให้ฮอร์โมนทางเพศในร่างกายเกิดความสับสน อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศสำหรับเด็กรวมถึงการสืบพันธุ์ เนื่องจากในสัตว์ทดลองที่ได้รับสาร BPA เป็นระยะเวลานานทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลง ด้าน พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม ในฐานะเลขานุการโครงการฯ กล่าวว่า ผลสำรวจบุคลากรทางการแพทย์ภายในสถาบันฯ พ่อแม่ผู้ปกครองที่มารับบริการในสถาบันโดยใช้แบบสอบถามจำนวน 200 ชุด พบว่า ร้อยละ 80 มีการใช้กล่องโฟมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ขณะที่ร้อยละ 60 รับประทานอาหารแช่แข็งที่ต้องอุ่นด้วยไมโครเวฟอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แม้ว่าภาพรวมร้อยละ 85 มีพฤติกรรมต่อการเลือกใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารในระดับดี แต่เนื่องจากพฤติกรรมที่คนใช้ชีวิตเร่งรีบ คนส่วนใหญ่แม้รู้ แต่ไม่ได้ตระหนักในการเลือกใช้ภาชนะพลาสติกอย่างถูกวิธี อย่างเช่น โฟม ที่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ามีสารก่อมะเร็ง ไม่ควรนำมาใช้ใส่ของร้อน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใช้ถุงร้อนลองก่อนใส่อาหาร ส่วนขวดนมเด็กที่มี ขายในท้องตลาดพบว่า เป็นพลาสติก 7 ที่ทนความร้อนและแรงกระแทกได้สูง แต่ในประเทศยุโรป อเมริกา เลิกใช้พลาสติกชนิดนี้ผลิตขวดนมเด็กแล้ว แต่จะใช้พลาสติก 5 PP ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดใหม่ที่ทนความร้อนได้ดีกว่าแทน แต่ราคาค่อนข้างสูงกว่า
พบผลไม้รถเข็นมีสารปนเปื้อนเพียบ
กทม. แถลง ผลการทดสอบความไม่ปลอดภัย ผลไม้รถเข็น พบ ผลไม้กว่า 153 ตัวอย่าง ปนเปื้อนสีสังเคราะห์และสารอันตรายต่อสุขภาพ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงผลการทดสอบความไม่ปลอดภัยในผลไม้รถเข็น หลังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เก็บตัวอย่าง ผลไม้รถเข็นจากแหล่งจำหน่าย 38 แหล่ง ในเขต กทม.และปริมณฑล เพื่อทดสอบการปนเปื้อนของอาหาร ซึ่งพบว่า มีผลไม้กว่า 153 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย สีสังเคราะห์ และมีการปนเปื้อนของสารกันรา ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยในวันนี้ได้ทดสอบหาสารปนเปื้อนในผลไม้รถเข็น ด้วยการสาธิตการทดสอบสารปนเปื้อน ด้วยชุดทดสอบอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กับผลไม้ตัวอย่างจากแหล่งต่างๆ กว่า 3 รายการ ประกอบด้วยทดสอบสารกันราในผลไม้ดอง ทดสอบสีสังเคราะห์ฝรั่งแช่บ๊วยและทดสอบการปนเปื้อนของซีบีซีในอาหาร เพื่อให้ประชาชนในที่ผลไม้รถเข็นได้รับผลไม้รถเข็นได้รับการคุ้มครองและปลอดภัยจากสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายสุขภาพ
สาธารณสุขแพร่ เตือนประชาชน ให้ระวัง 6 โรคที่มากับน้ำท่วม
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ เตือนประชาชนระวังภัย 6 โรคที่ตามมาภายหลังน้ำท่วม ทั้ง โรคฉี่หนู อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ ตาแดง และไข้เลือดออก ขณะนี้ได้ประสานงานให้ทุกอำเภอ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาฟรีต่อเนื่อง ให้ผู้ประสบภัย ให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ถึงแม้ว่าขณะนี้ทุกพื้นที่ยังไม่มีโรคระบาดใดๆ จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในที่มีพื้นที่ประสบภัย และได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วมและภายหลังน้ำลด โดยเน้นหนัก 6 โรคที่พบได้บ่อยภายหลังมีน้ำท่วมขัง ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ ตาแดง และไข้เลือดออก ได้ดำเนินการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยฟรี และให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดโรค และป้องกันการเสียชีวิตหลังเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะหลังน้ำท่วมโรคที่พบมากได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า และไข้หวัดทั่ว ๆ ไป "ต้องขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ห้ามถ่ายอุจจาระ หรือทิ้งขยะลงน้ำอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้น้ำสกปรก เสี่ยงเกิดโรคระบาดได้ง่ายโดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โรคตับอักเสบ รวมทั้งโรคตาแดง วิธีลดความสกปรกในน้ำท่วมที่ดีที่สุด หากส้วมใช้การไม่ได้ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงถุงดำหรือถุงพลาสติก หรือเรียกว่าส้วมมือถือ และทิ้งขยะลงในถุงดำหรือถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้มิดชิดป้องกันแมลงวันตอม ก่อนนำไปทำลาย” ในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง
- น้ำดื่ม น้ำใช้ ขอให้ดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีตรา อย. หรือดื่มน้ำต้มสุกที่ต้มน้ำให้เดือดอย่างน้อย 10 นาที - ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารเสมอ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ ส่วนน้ำใช้นั้น สามารถนำน้ำท่วมมาปรับสภาพให้สะอาดและใช้ได้ โดยใช้สารส้มและคลอรีนเม็ด ใช้กับน้ำ 1 โอ่งมังกรใหญ่ โดยใช้สารส้มแกว่งน้ำให้ตกตะกอนก่อน และใส่คลอรีนเม็ด 1 เม็ด เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ จะทำให้น้ำสะอาดเท่าน้ำประปา
-หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนาน ๆ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำ ป้องกันของมีคมในน้ำทิ่ม ตำ เท้า และรีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ เช็คเท้าให้แห้งเมื่อเสร็จธุระนอกบ้านหากมีบาดแผลตามผิวหนังไม่ควรสัมผัสน้ำสกปรก เมื่อมีแผล ผื่น ที่ผิวหนังให้ ทายาหรือรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด โดยจะต้องสวมรองเท้าเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากการเหยียบเศษวัสดุ ทำให้เป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู
ยาลดความอ้วน ผอมดั่งใจ ตายเร็วไว
ยาลดความอ้วนแม้จะทำให้คุณผอมได้ดั่งใจ แต่ส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิต
ยาลดความอ้วนมีผลข้างเคียงมากมาย ทั้งคลื่นไส้ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ปากแห้ง ท้องผูก เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอาการติดยา เกิดปัญหาทางจิต และเสียชีวิตได้ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์ ควรใช้ยาลดความอ้วนเฉพาะเมื่อแพทย์แนะนำ และเป็นผู้ควบคุมการใช้ และใช้กับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนหรือบุคคลที่อาจเกิดโรคแทรกซ้อนเนื่องจากความอ้วนเท่านั้น รู้อย่างไรว่าคุณอ้วน... ตามหลักวิชาการ คนอ้วนจะต้องเป็นคนที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 โดยคำนวณจากน้ำหนักร่างกายเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง
หากคุณเข้าข่ายอ้วน ควรเน้นในเรื่องการควบคุมอาหาร กินให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละ 30 นาที ร่างกายคุณจะสมส่วน แข็งแรงและมีสุขภาพดี
ภัยเงียบจากพาราเซตามอล
พาราเซตามอล เป็นยาสามัญประจำบ้านที่เรียกได้ว่าแทบจะมีติดบ้านกันเกือบทุกหลังคาเรือน และดูเหมือนว่าเราจะใช้ยาชนิดนี้ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ให้กับตัวเอง ใช้เรื่อยไปตั้งแต่ปวดหัว เป็นไข้ ตัวร้อน ปวดประจำเดือน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดฟัน ฯลฯ เป็นยาสามัญที่สามารถซื้อหาได้อย่างสะดวก และเราจะพบยาตัวนี้ ทั้งที่เป็นยาเดี่ยว เช่น ไทลีนอล, พานาดอล, เทมปร้า, คาลปอล, ซาร่า หรือเป็นยาผสมในยาตัวอื่น เช่น ทิฟฟี่, ดีคอลเจน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้อย่างพร่ำเพรื่อ และใช้ติดต่อกันนานเกินไป อาจก่อนปัญหาภาวะพิษต่อตับได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เราอาจจะรู้สึกแปลกใจที่ทราบว่าสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการเกิดตับวาย ไม่ใช่มาจากแอลกอฮอล์ หรือมาจากไวรัสตับอักเสบ แต่สาเหตุอันดับหนึ่งกลับมาจากยาโดยเฉพาะพาราเซตามอล เพื่อนคู่บ้านนั่นเอง มีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาใโรงพยาบาลเนื่องจากพิษของพาราเซตามอล เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดตับวายในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากตับวาย จากพาราเซตามอลต่อปีในปัจจุบันยังสูงกว่าตัวยารักษาเบาหวานRezulin (troglitazone) ซึ่งถูกถอดทะเบียนออกไปแล้วเนื่องจากพิษต่อตับเสียอีก กลไกการทำลายตับของยา Acetaminophen หรือพาราเซตามอลนี้ พบว่ายาชนิดนี้เมื่อใช้ในร่างกาย การจะขับออกไปจากร่างกายได้ต้องผ่านขบวนการขับพิษที่ตับสองขั้นตอน ขั้นตอนที่หนึ่งก่อให้เกิดสารผลิตผลที่เป็นพิษ (Toxic metabolite) ชื่อ NAPQI ซึ่งต้องเข้าสู่ขั้นตอนที่สองซึ่งใช้สารกลูต้าไธโอนในตับลดลง หากใช้นานติดต่อกันหรือใช้เกินขนาด ก็จะทำให้ระดับสารผลิตผลที่เป็นพิษนี้เพิ่มมากขึ้นส่งผลเป็นพิษต่อตับรุนแรงในที่สุด ดังนั้น ถ้าหากสามารถผลิตยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล และ N-acetyl cysteine ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยเพิ่มระดับของสารกลูต้าไธโอนในเซลล์ได้ วิธีการนี้อาจจะสามารถกำจัด หรือช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากพาราเซตามอลได้ (ซีสเทอีนเป็นส่วนประกอบในยาขับเสมหะ เป็นกรดอะมิโนซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตกลูต้าไธโอน หากต้องการให้ระดับกลูต้าไธโอนในเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเซลล์ตับสูงขึ้นจะใช้ N-acetyl Cysteine เพราะการรับประทานกลูต้าไธโอนโดยตรง อาจไม่ได้ผลเช่นนั้นมากนัก เนื่องจากกลูต้าไธโอนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงถูกใช้ไปในการต้านอนุมูลอิสระในระบบทางเดินอาหาร หากดูดซึมเข้าไปบ้างก็จะถูกใช้ไปในการต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระแสโลหิต) เนื่องจากว่าพาราเซตามอล เและอเซทิลซีสเทอิน N-acetyl cysteine มีจำหน่ายทั่วไป เราอาจจะคิดว่าการออกสูตรยาพาราเซตามอลซึ่งปลอดภัยไม่น่ายก แต่ที่จริงแล้วมันเป็นปัญหาใหญ่เพราะ FDA สหรัฐอเมริกาไม่อนุญาตให้ใส่ตัวยาทั้งสองเข้าด้วยกันจนกว่าการจดทะเบียนเป็นยาตำรับใหม่จะได้รับการอนุมัติ คือต้องผ่านการศึกษาวิจัยทางคลินิก และต้องผ่านการอนุมัติจาก FDA จึงจะสามารถผลิตออกมาจำหน่ายได้ ขวบนการทั้งหลายเหล่านี้ต้องใช้เงินนับร้อยล้านเหรียญ และใช้เวลานับทศวรรษถึงจะสำเร็จลงได้ ด้วยเหตุนี้ยาสูตรใหม่ พาราเซตามอลที่ปลอดภัยจึงไม่เคยออกสู่ท้องตลาดเลย พาราเซตามอล อันตรายอย่างไร? ในแต่ละปี สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยที่ได้รับรายงาน ความเป็นพิษจากยาพาราเซตามอลประมาณ 100,000 ราย ถูกนำส่งห้องฉุกเฉิน 56,000 ราย ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 26,000 ราย การใช้พาราเซตามอลเป็นประจำจะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งไตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งโรคนี้คร่าชีวิตคนอเมริกัน 12,000 ราย ต่อปี อุบัติการณ์ในการเกิดมะเร็งไตในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึง 126% นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การก้าวกระโดดของการเกิดโรคนี้อาจจะเกี่ยวโยงกับการใช้ยาที่ผสมพาราเซตามอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากอนุมูลอิสระจาก toxic metabolite ของพราราเซตามอลกระจายไปทั่วร่างกาย เพราะฉะนั้นก็สามาารถทำให้เพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับความแก่ชราอย่างอื่นได้อีก นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองในสัตว์พบว่าพาราเซตามอลทำให้เกิดต้อกระจกในสัตว์ทดลองได้ สาเหตุของภาวะพิษจากพาราเซตามอล ภาวะพิษจากพาราเซตามอลเกิดขึ้นได้จากเหตุโดยตั้งใจ คือการรับประทานยาเกินขนาดเพื่ออัตวินิบาตกรรม และโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
1.รับประทานยาชนิดอื่นที่มีส่วนผสมของราราเซตามอลโาดยไม่ทราบ แล้วรับประทานพาราเซตามอลเข้าไปอีก เนื่องจากปัจจุบันยาหลายชนิดมีส่วนผสมของพาราเซตามอล เช่น ยาบรรเทาหวัดลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ยาคลายกล้ามเนื้อหลายชนิด
2. ปัจจัยเฉพาะบุคคลที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตับได้ง่าย เช่นในผู้ที่ดื่มสุรา ผู้ป่วยโรคตับภาวะขาดสารอาหารซึ่งส่งผลให้ระดับกลูต้าไธโอนลดลง ในกลุ่มนี้ก่อให้เกิดพิษจากพาราเซตามอลได้ง่าย แม้ว่าจะรับประทานในขนาดปกติก็ตาม
3. การใช้ยาร่วมกัน โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ในระบบขับสารพิษชื่อ CYP450 2E1 ในตับเช่นยา phenytoin, carbamazepine, rifampin เป็นต้น แนวทางป้องกันและแก้ไข ควรหลีกเลี่ยงการใช้พาราเซตามอล ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับเรื้อรัง พิษสุรา ภาวะขาดสารอาหาร และในผู้ที่กำลังรับประทานยาที่กระตุ้นเหนี่ยวนำเอนไซม์ cytochrome P450 2E1 ...ห้ามทานพาราเซตามอลแล้วดื่มสุรา หากกำลังใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาบรรเทาหวัด ให้อ่านฉลากให้ดีว่ามีส่วนผสมของพาราเซตามอลหรือไม่ และไม่รับประทานซ้ำซ้อนข้าไปอีก...ไม่ควรใช้ยานี้เกินวันละ 2,600 มิลลิกรัม (ประมาณ 5 เม็ด ในขนาด 500 mg, จำนวน 8 เม็ดในขนาด 325 มิลลิกรัม) ขนาดรับประทานคือ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม สูงสุดไม่เกินครั้งละ 650 มิลลิกรัม การใช้ยาในเด็กเล็กให้ดูฉลาก และคำนวณความต้องการให้ถูกต้องก่อนเสมอ เพราะยาน้ำนี้ในประเทศไทยมีหลายขนาด ปริมาณมิลลิกรัมต่อหนึ่งช้อนชาแตกต่างกันไป ใช้พาราเซตามอลติดต่อกันไม่เกิน 3 วัน ควรปรึกษาแพทย์หากอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้น เพื่อค้นหาสาเหตุโรคที่แท้จริง และแก้ไขตรงจุดต่อไป การใช้ยาทางเลือก สามารถเลือกได้หลายขนาน เช่น ยาเขียวแก้ไข้ ยาจันทลีลา ยาฟ้าทะลายโจร ยาขมชนิดต่างๆ ล้วนมีฤทธิ์ลดไข้ หากจะต้องการใช้พาราเซตามอลให้ปลอดภัย คือ รับประทาน N-Actyl Cysteine ร่วมไปด้วย ก็จะเพิ่มปริมาณกลูต้าไธโอนในตับ ทำให้สารพิษ toxic metabolite ชื่อ NAPQI ที่เกิดจากขบวนการดีท๊อกพาราเซตามอลที่ตับมีจำนวนลดลง โดยถูกกลูต้าไธโอนจับเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่ไม่อันตรายขับออกจากร่างกายได้
อย่าหลงเชื่อโฆษณากาแฟลดความอ้วน
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณากาแฟลดความอ้วน เพราะเสี่ยงกับการเกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค นายแพทย์วีรพล นิธิพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปลดความอ้วนตามสื่อต่างๆ ทำให้เข้าใจว่ามีผลในการลดน้ำหนัก จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อีกทั้งการได้รับคาเฟอีนในกาแฟทำให้หัวใจทำงานหนัก ในขณะที่หากดื่มมากอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากการเติมน้ำตาล ครีม และอาจได้รับอันตรายจากยาบางชนิดหากมีการลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์ เช่น ยาไซบูทรามีนจะทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ปวดศีรษะ ปากแห้ง นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วขึ้น เป็นต้น ดังนั้นก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟ ต้องอ่านฉลากให้ถี่ถ้วนโดยต้องมีฉลากภาษาไทยแจ้งส่วนผสม ระบุชื่อผู้ผลิตอย่างชัดเจน และมีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ซึ่งแม้ว่าที่ฉลากจะมีการระบุส่วนประกอบว่ามีไฟเบอร์ คอลลาเจน แอลคาร์นีทีน หรือโครเมียม แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางวิชาการยืนยันว่า สารดังกล่าวมีผลในการลดน้ำหนัก ส่วนเลขสารบบอาหารที่แสดงบนฉลากอาหาร เป็นเพียงการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต และส่วนประกอบเท่านั้น ไม่ได้รับรองการโฆษณาแต่อย่างใด และไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณลดความอ้วน ทั้งนี้ หากตรวจพบการกระทำผิด เช่น ลักลอบผสมยาแผนปัจจุบันจะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือโฆษณาสรรพคุณอันเป็นเท็จต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การลดน้ำหนักสามารถทำได้โดยหมั่นออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส หากพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟที่หลอกลวงและโอ้อวดเกินจริง หรือฉลากผลิตภัณฑ์ไม่ชัดเจน หรือได้รับผลข้างเคียงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟ ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร.1556 หรือที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ โทร02 3895980 ต่อ 109 ในวันเวลาราชการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น