ปูอัดนั้น ภาษาทางการเรียกว่า เนื้อปูเทียม การผลิตเนื้อปูเทียม เกิดจากความคิดที่ว่า ปลาที่จับได้ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ถือว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเพราะผู้บริโภคไม่นิยมราคาจึงถูกมาก ประมาณร้อยละ ๙๐ ของปลาขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า ปลาเป็ด จะถูกนำไปทำเป็นปลาป่นสำหรับใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ นับได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และแล้วบริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นก็คิดค้นนำปลาดังว่านี้มาทำเป็นเนื้อปูเทียมขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการทำประมง และมีบริษัทผลิตเนื้อปูเทียมมานานหลายปีแล้ว ปลาที่ใช้ได้แก่ ปลาทรายแดง ปลาทรายขาว ปลาตาโต ปลาดาบ ปลากะพง ฯลฯ วิธีทำเริ่มต้นจากการนำปลามาตัดหัว ควักไส้ทิ้ง ส่งเข้าเครื่องบีบเอาแต่เนื้อปลา นำปลาบดที่ได้มาผสมเครื่องปรุงจำพวกแป้ง น้ำตาล เกลือ ผงชูรส และกลิ่นปู เสร็จแล้วนำไปทำให้สุกและทำให้เนื้อปลามีลักษณะเป็นเส้นเหมือนเนื้อปูจริง ๆ จากนั้นจึงอัดเป็นแท่งยาว ๆ แล้วตกแต่งสีให้ดูเหมือนเนื้อปูจริง ๆ บางบริษัทถึงกับอัดเนื้อปูเทียมเป็นรูปก้ามปู (ที่แกะเปลือกแล้ว) ดูน่ากิน
อย่างไรก็ตาม มีผู้บริโภคจำนวนมากคิดว่าปูอัดเป็นเนื้อปูจริง ๆ พอรู้ในภายหลังว่าทำมาจากเนื้อปลา ถึงกับเลิกกินไปเลยก็มี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น