วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายอย่างไร



ชาวเอเชียนั้นว่ากันว่าบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันเป็นบ้าเป็นหลัง เหตุผลง่ายๆก็คือ ราคาถูก ไม่ต้องใช้เวลาเตรียมมาก และอิ่มท้อง เด็กๆส่วนใหญ่ก็ชอบรับประทาน อุตสาหกรรมบะหมี่สำเร็จรูปจึงเติบโตอย่างไม่น่าเชื่อ เห็นได้จากในท้องตลาดมีหลากหลายยี่ห้อจนนับไม่ถ้วน และด้วยรูปลักษณ์ต่างๆกัน จุดขายต่างๆกันไป นับตั้งแต่ขายเสียงหมูสับ ไปจนถึงยี่ห้อเอาเร็วเข้าว่าจะมัวช้าสับหมูอยู่ไย ถ้าถามว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพ หลายคนคงมีคำตอบอยู่แล้วในใจ เรียกว่ารู้ดีอยู่ว่าไม่ควรรับประทานทุกวันเป็นแน่ แต่บางครั้งก็อดใจไม่ไหว บางทีก็ขี้เกียจทำอาหารหรือขี้เกียจออกมาซื้อหาอาหารรับประทาน ที่แน่ๆก็คือ หนุ่มสาวในวัยศึกษาโดยเฉพาะพวกที่อยู่หอพัก ดูหนังสือดึกๆก็ต้มรับประทานคลายหิวไปได้ หากเราลองมาดูส่วนประกอบในฉลาก จะพบว่าส่วนประกอบหลักเลยก็คือแป้ง ซึ่งให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต แหล่งพลังงานหลักของเรา ถ้าไม่มีคาร์โบไฮเดรตร่างกายต้องดึงไขมันสะสมมาใช้ พอไขมันหมดก็ไปเอาโปรตีนมาจากกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ทว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็กำลังถูกเพ่งเล็งอยู่ว่าจะมีผลดีต่อร่างกายหรือไม่ วารสารทางการแพทย์ Journal of the American Medical Association ได้ตีพิมพ์บทความที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบสูงกับโรคเบาหวาน พบว่า ขนมปังที่ทำจากแป้งขัดขาว มันฝรั่งบด และบะหมี่สำเร็จรูปนั้นมี glycemic indexes ซึ่งเป็นตัวชี้วัดค่าความสามารถในการทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แต่ผู้ศึกษาก็แนะนำว่า ไม่ได้ให้ผู้บริโภคตัดอาหารแป้งทั้งหมดออกไปจากสำรับ แต่ให้หันมารับประทานแป้งชนิดที่ไม่ขัดขาวแทน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เป็นต้น และควรรับประทานพืชผักใบเขียวให้มากขึ้น นอกจากแป้งแล้ว ส่วนประกอบในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีมากรองลงมาก็คือ ไขมัน หลายท่านคงแปลกใจเพราะดูไม่ออกว่าไขมันมาจากไหน แต่ศาสตราจารย์ ฮาโรลด์ คอร์ค ผู้เชี่ยวชาญทางข้าวสาลีแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า นอกจากไขมันในรูปน้ำมันที่อยู่ในซองสำหรับปรุงรสแล้ว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่ใช้วิธีทอดเส้นในน้ำมัน มีพียง3-4% เท่านั้นที่อบแห้งโดยใช้ลมร้อน(air-drying) ซึ่งไม่มีการระบุไว้ในฉลากเพราะไม่ใช่จุดขายของสินค้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่จึงมีน้ำมันอยู่ประมาณ 18 % แม้ว่าไขมันจะเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ทว่าผู้ผลิตมักใช้น้ำมันปาล์มซึ่งหาง่ายในแถบเอเชีย ราคาถูกและทำให้บะหมี่มีรสชาติดี แต่ไขมันจากน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวสูงก็ไม่เหมาะกับคนที่เเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนั้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังมีเกลือโปตัสเซียมคาร์บอเนตซึ่งทำให้เส้นบะหมี่มีสีเหลืองอ่อนๆน่ารับประทาน ทำให้เส้นเหนียวนุ่มไม่เละง่ายเมื่อถูกน้ำร้อน แต่ไม่มีคุณค่าทางอาหารและถือว่าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่วนเครื่องปรุงก็มีเกลือเป็นส่วนใหญ่ ถ้าผู้บริโภคที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ไม่ควรรับประทาน นอกจากนั้นก็มีสีปรุงแต่งอาหาร ผงชูรส ซึ่งบางคนอาจแพ้ได้ บะหมี่สำเร็จรูปที่ไม่มีผงชูรสก็มีเหมือนกันแต่ราคาแพงกว่าปกติประมาณ 25% ดร.เอ็ดมอนด์ ลี นักโภชนาการชาวฮ่องกงเตือนว่า แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบางชนิดจะมีผักเป็นส่วนผสมอยู่บ้าง แต่ก็อย่าหวังพึ่งว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพราะจุดประสงค์ของผู้ผลิตคือแต่งหน้าให้ดูดีน่ารับประทานเฉยๆ แต่เขาก็เข้าใจสำหรับคนที่ชอบรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและไม่เห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่โตอะไร แม้เด็กๆจะชอบรับประทาน แต่ผู้ใหญ่ก็คอยดูแลได้โดยการเติมไข่ใส่ผัก ให้บะหมี่ถ้วยนั้นมีโปรตีนและวิตามินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การรับประทานอาหารให้หลากหลายเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารเต็มที่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เป็นอันตรายต่อใคร แต่ก็ควรรับประทานนานๆครั้งก็พอ ความจริงคงไม่มีใครตั้งหน้าตั้งตารับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเดียวหากมีทางเลือกอื่น ยกเว้นคนติดเกาะหรือหลงป่าที่อยู่ในภาวะจำยอมเท่านั้นกระมัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น